เหตุการณ์เหล่านั้นและอีกหลายเหตุการณ์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันสร้างบรรยากาศอึมครึมตึงเครียด และบ่มเพาะความโกรธแค้นในสังคมฝ่าย “เสรีนิยม” ของอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง การตายของ เม็ดการ์ เอเวอร์ส ถูกถ่ายทอดเป็นบทเพลงโดยศิลปินโฟล์กวัยหนุ่มอย่าง บ๊อบ ดีแลน (เพลง “Only a Pawn in Their Game”) ทั้งยังได้รับการพูดถึงหรือเขียนถึงโดยปัญญาชนคนขาวต่างแขนงอย่างกว้างขวาง
แต่ยิ่งกว่าใครทั้งหมดที่ออกมาประณามความโหดเหี้ยมไร้เหตุผลของประเทศตัวเอง นีนา ซิโมน (Nina Simone) เป็นตัวแทนทั้งของดนตรีและของคนผิวสี ผู้กระจายเสียงประจานได้บาดลึกและแสบสันต์ที่สุดด้วยเพลง “Mississippi Goddam” ซึ่งเธอแต่งและร้องเองด้วยอารมณ์ร่วมบวมเป่ง พร้อมจะระเบิดใส่รัฐธรรมนูญอเมริกันโดยไม่เกรงใจใคร
Lord have mercy on this land of mine
We all gonna get it in due time
I don’t belong here
I don’t belong there
I’ve even stopped believing in prayer
คนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นและศรัทธาอย่างลึกซึ้งในพระเจ้า เป็นคุณสมบัติที่อยู่ในเม็ดเลือดของพวกเขาพอๆ กับความสามัคคีแน่นแฟ้นแบบ “นับญาติ” ที่พวกเขามีให้กัน (ตราบที่โลกนี้ยังมีผู้ถูกเหยียดหยามรังแกเช่นที่คนผิวดำพบเจอมาเป็นศตวรรษ ตราบนั้นความปราศจากศาสนา ปราศจากพระเจ้า อย่างที่ ริชาร์ด ดอว์กินส์ คาดหวังคงเป็นไปได้ยาก) แต่เมื่อ นีนา ซิโมน ตะเบ็งด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ประกาศว่าความรุนแรงและความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นทำให้เธอ “เลิกเชื่อในการสวดภาวนา” อาจเปรียบเสมือนเสียงสะท้อนจากคนผิวดำถึงความเหลืออดเหลือกลั้นของการมีชีวิตที่ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นเพียงเศษขยะ จนกระทั่งไม่อาจฝากความหวังไว้กับ “ความดี” ใดๆ ได้เลย แม้กระทั่งความดีสูงสุดในสรวงสวรรค์
ในปี ๑๙๖๓ ที่ นีนา ซิโมน เขียนเพลง “Mississippi Goddam” ขึ้น เธอเป็นที่รู้จักอยู่บ้างแล้วในฐานะนักร้องเพลงแจ๊ซสแตนดาร์ด (jazz standard) จากเพลง “I Love You Porgy” (ประพันธ์โดย จอร์จ เกิร์ชวิน สำหรับละครเพลงเรื่อง Porgy and Bess) ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังจนสามารถไต่อันดับเพลงยอดนิยมจากการสำรวจของนิตยสาร Billboard ในปี ๑๙๕๘ และก่อนหน้านั้น เธอเคยทำงานหาเลี้ยงตัวเองด้วยการเล่นเปียโนและขับร้องเพลงในบาร์ชื่อดังย่านแอตแลนติกซิตี (เมืองบ่อนพนันฝั่งตะวันออกของอเมริกา) มาตั้งแต่อายุ ๒๐ ต้นๆ โดยมีแฟนเพลงผู้ชื่นชอบสำเนียงเสียงร้องของเธอติดตามฟังอยู่จำนวนหนึ่ง จึงไม่อาจกล่าวว่า นีนา ซิโมน แจ้งเกิดในฐานะนักร้องจากเพลงแนวประท้วง (protest music) อย่าง “Mississippi Goddam” แต่คงไม่เกินเลยความจริงที่จะกล่าวว่าเธอสร้างความเป็น “ตำนาน” และความเป็น “ดีวา” (Diva ในความหมายของนักร้องหญิงผู้เลอเลิศระดับนางพญา) ให้ตัวเองอย่างแท้จริง จากการแสดงออกอย่างเหิมเกริมต่อผู้มีอำนาจ จากความหาญกล้าที่จะเรียกร้องเสรีภาพให้แก่เพื่อนร่วมสีผิว และจากความเป็นปัจเจกสูงทั้งในการร้องเพลงและในการใช้ชีวิต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น