วันอังคาร, กันยายน 28, 2553

บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) การมอดไหม้ที่ไพเราะของผลไม้ประหลาด



บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday)  การมอดไหม้ที่ไพเราะของผลไม้ประหลาด
บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) (7 เมษายน ค.ศ. 1915 - 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1959) นักร้องผิวสีชาวอเมริกัน เจ้าของฉายา เลดี้เดย์ (Lady Day) เป็นนักร้องเพลงแจ๊ซ สวิงและบลูส์ที่มีน้ำเสียงและวิธีการร้องที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ด้วยน้ำเสียงแหบหยาบ หม่นเศร้า ประกอบกับเพลงส่วนใหญ่ที่เธอเลือกร้อง มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับความผิดหวัง เศร้าหมอง ขมขื่น สอดคล้องกับชีวิตจริงของเธอเอง
เริ่มต้น
บิลลี ฮอลิเดย์ มีชื่อจริงว่า เอเลนอรา เฟแกน เป็นลูกนอกสมรสของนักดนตรีแบนโจชื่อ คลาเรนซ์ ฮอลิเดย์ (Clarence Holiday) วัย 15 ปี กับ ซาดี เฟแกน (Sadie Fagan) วัย 13 ปี
เธอเกิดเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1915 ที่บัลติมอร์ ฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพนซิลเวเนีย พ่อของเธอทิ้งให้สองแม่ลูกใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง ส่วนตัวไปทำงานเป็นนักดนตรีอยู่ที่นิวยอร์ก เมื่อเธอเริ่มโตขึ้น แม่ก็ทิ้งให้อยู่กับญาติ ส่วนตัวก็ไปหางานทำต่างเมือง เอเลนอราถูกข่มขืน ในวัยเพียง 11 ปี โดยเพื่อนบ้าน และถูกส่งเข้าโรงเรียนคาธอลิกในบัลติมอร์ เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ (หนังสือบางเล่ม กล่าวว่า เป็นโรงเรียนดัดสันดาน)
เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ฮอลิเดย์ติดตามแม่ของเธอมาอยู่ในนิวยอร์ค  ชีวิตในสังคมเมืองใหญ่ซึ่งไม่มีทางเลือกมากนัก ชักนำเธอไปสู่การทำงานในสถานบริการทางเพศ และครั้งหนึ่งเคยทำให้เธอถูกจับเข้าห้องขังในข้อหาค้าประเวณีมาแล้ว
     ฮอลิเดย์กลับมาหางานทำอีกครั้งในฐานะนักเต้น และต่อมาในราวปี ค.ศ. 1930 เธอค้นพบว่าการร้องเพลงสามารถหารายได้มาจุนเจือตนเองอีกทางหนึ่ง  โดยไม่รอช้า ฮอลิเดย์ตัดสินใจเอาดีกับการร้องเพลงทันทีทั้งๆ ที่เธอไม่ได้เรียนร้องเพลงโดยตรงมาแต่อย่างใด
     นอกจากการบันทึกเสียงกับวงเบนนี กู้ดแมนแล้ว  เลดี เดย์ ยังประสบความสำเร็จอย่างมากจากการร่วมงานกับนักเปียโน เท็ดดี วิลสัน ในปี ค.ศ. 1936 โดยมีเพลง Why Was I Born,  MeanTo Me, Easy Living และ The Man I Love  เป็นเพลงฮิตยุคแรกๆ 
     นอกจากนี้เธอยังมีนักแซ็กโซโฟนดาวเด่นอย่าง เลสเตอร์ ยัง เป็นผู้สร้างปฏิสัมพันธ์กับลีลาการร้องของเธอทั้งในการแสดงสดและการบันทึกเสียง
     ฮอลิเดย์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจในการร้องเพลงมาจากราชินีเพลงบลูส์ เบสซี สมิธ  นอกจากการถ่ายทอดเพลงยอดนิยมให้มีมิติแตกต่างจากนักร้องทั่วไปด้วยการตีความตามแบบฉบับของเธอแล้ว จุดเด่นในแง่ของเทคนิคการร้องเพลงของฮอลิเดย์ยังมาจากการฟังเสียงของเครื่องดนตรีต่างๆ  ภายในวงและปรับแต่งระดับเสียงร้องของตัวเองให้ลื่นไหลไปตามอารมณ์เพลงนั้นๆ
     หรือในอีกทางหนึ่งก็คือการจูนเสียงร้องให้เข้ากับเสียงคอร์ดใหม่ๆ ของดนตรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขนบธรรมเนียมในดนตรีแจ๊ส และได้กลายเป็นคุณสมบัติของนักร้องเพลงแจ๊สที่ดีพึงจะมีในเวลาต่อมา

ซาดี และเอเลนอรา ย้ายไปนิวยอร์ก เมื่อ ค.ศ. 1928 ณ ที่นั้น เธอเริ่มใช้ชีวิตอย่างเหลวแหลกอยู่ตามซ่องโสเภณี ถูกจับด้วยข้อหาคนจรจัด ติดคุกอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อออกจากคุก จึงเริ่มอาชีพนักร้อง ตระเวนร้องตามบาร์ ใช้ชื่อว่า บิลลี ฮอลิเดย์ โดย บิลลี มาจากชื่อนักแสดงที่เธอชื่นชม ชื่อ บิลลี โดฟ และ ฮอลิเดย์ มาจากนามสกุลของพ่อ
เธอร้องเพลงโดยได้แบบอย่างและลีลาการร้องมาจาก เบสซี สมิธ และการเปล่งเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของ หลุยส์ อาร์มสตรอง นักร้องที่เธอได้ฟังจากแผ่นเสียง ขณะใช้ชีวิตอยู่ในซ่องโสเภณี และชื่นชมมาก
การร้องเพลงของบิลลี ฮอลิเดย์ สะดุดตาโปรดิวเซอร์ชื่อ จอห์น แฮมมอนด์ ซึ่งเป็นผู้ชักนำให้เธอเข้าสู่วงการ เธอเริ่มอัดแผ่นเสียงเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1933 กับวงดนตรีของเบนนี กูดแมน เธอมีชื่อเสียงมากขึ้นและได้ร่วมงานกับเคาท์ เบซี เมื่อ ค.ศ. 1937
ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุด ของเธอ เป็นผลงานชื่อเพลง Strange Fruit จากบทกวีของ เอเบล มีโรโปล (Abel Meeropol) ซึ่งสะท้อนเหตุการณ์การเหยียดผิว และความรุนแรงในสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น มีชาวผิวขาวรุมทำร้ายชาวผิวดำ และนำศพไปแขวนกับต้นไม้
Southern trees bear strange fruit,
Blood on the leaves and blood at the root,
Black bodies swinging in the southern breeze,
Strange fruit hanging from the poplar trees.

Pastoral scene of the gallant south,
The bulging eyes and the twisted mouth,
Scent of magnolias, sweet and fresh,
Then the sudden smell of burning flesh.

Here is a fruit for the crows to pluck,
For the rain to gather, for the wind to suck,
For the sun to rot, for the tree to drop,
Here is a strange and bitter crop
มีโรโปล ใช้นามแฝงว่า ลิวอิส อัลเลน (Lewis Allen) เปรียบเทียบคนผิวดำที่ถูกแขวนคอกับกิ่งไม้ ว่าเป็นผลไม้หน้าตาประหลาด ที่เลือดไหลเปรอะไปทั่วกิ่งใบ จนถึงรากไม้
เธอชื่นชอบเพลงนี้ และนำไปเสนอต่อต้นสังกัด คือ โคลัมเบีย ว่าจะบันทึกเสียงเพลงนี้ แต่ต้นสังกัดปฏิเสธ เนื่องจากความรุนแรงของเนื้อหา เธอจึงหันไปบันทึกเสียงกับค่าย คอมมอดอร์ เมื่อ ค.ศ. 1939 และบันทึกอีกครั้งเมื่อ ค.ศ. 1944
เพลง Strange Fruit นับเป็นเพลงที่อื้อฉาวที่สุดของเธอ แฟนเพลงจำนวนมากไม่พอใจที่เธอนำเพลงนี้มาร้อง ในระยะแรกเพลงถึงกับถูกห้ามออกอากาศทางสถานีวิทยุ แต่ที่สุดแล้ว เพลงนี้ก็ผลักดันได้เธอก้าวสู่ความเป็นนักร้องชั้นนำ และเป็นเพลงที่มีชื่อเสียงที่สุดของเธอ
บั้นปลาย
ช่วงทศวรรษ 1940 บิลลี ฮอลิเดย์ มีชีวิตที่ผกผัน เธอติดเหล้าและยาเสพติด มีชีวิตแต่งงานและความสัมพันธ์ที่ล้มเหลว ถูกจับด้วยข้อหายาเสพติด และต้องเข้าไปอยู่ในสถานกักกันนานถึงแปดเดือน ในปี ค.ศ. 1947
ช่วงทศวรรษ 1950 เธอยังคงเสพยา และติดเหล้าอย่างหนัก เธอแต่งงานใหม่กับมาเฟียชื่อ หลุยส์ แมคเคย์ แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์กับชายมากมาย เสียงเธอเริ่มแหบหยาบ แต่ก็ยังผลิตผลงานออกมามากมาย รวมทั้งจัดการแสดงสดในยุโรปในปี 1954 และ 1958-59
เธอป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคตับ ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลเมื่อเดือนพฤษภาคม 1959 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 อายุ 44 ปี ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว
เรื่องราวชีวิตของบิลลี ฮอลิเดย์ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1972 ชื่อ Lady Sings The Blues รับบทโดย ไดอาน่า รอสส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

รายการบล็อกของฉัน