วันอังคาร, พฤษภาคม 28, 2556

ประวัติเพลงบลูส์


ประวัติและความเป็นมาของเพลงบลูส์
เพลงบลูส์ (Blues) เป็นรูปแบบของดนตรีประเภทหนึ่งที่คงรูปแบบดั้งเดิม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นที่มลรัฐมิสซิสซิปปีในตอนปลายศตวรรษที่ ๑๙ ภายใต้ความขัดแย้งและสับสนต่อสภาพความเป็นไปของยุคสมัยที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรม คนผิวดำหลั่งไหลเข้าสู่สหรัฐอเมริกาเพื่อการเป็นทาส สภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนผิวดำถูกกระทบกระเทือนอย่างสูง เพราะเป็นบุคคลชั้นต่ำของสังคมอเมริกันยุคนั้น คนผิวดำไม่สามารถกำหนดบทบาทและวิถีชีวิตให้แก่ตนเองได้ สภาพชีวิตที่คับแค้นของพวกเขาถูกนำเสนอผ่านบทเพลงด้วยการร้องหรือสวดอ้อนวอนในทางศาสนาที่ เป็นท่วงทำนองที่น่าเศร้า อันเป็นเอกลักษณ์ของการร้องและท่วงทำนองที่เกิดจากเครื่องดนตรีที่ไม่มีคุณภาพจากความแร้นแค้น และความรู้ในด้านทฤษฎีดนตรีที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ทำให้มีเสียงหรือคอร์ดความเพี้ยนซึ่งต่อมาก็ได้สร้างความแปลกหู จนเป็นลักษณะและเอกลักษณ์เฉพาะ..
 เมื่อถูกพวกผิวขาวกดขี่ ก็จะแสดงออกทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ระบายความเจ็บปวด ความโหดร้าย ความแค้น ความคร่ำครวญ ผ่านเสียงดนตรีที่มีลักษณะเศร้าสร้อย พร้อมกับเสียงร้องแหบกระด้างขึ้นจมูกแบบคนอมทุกข์ บางครั้งเนื้อเพลงบรรยายถึงสภาพของชนบทที่ตนอยู่ หรือบางทีก็บรรยายถึงความผิดหวังจากความรัก ต่อมาเพลงบลูส์ได้แพร่ขยายไปจนมีศูนย์กลางอยู่ที่ชิคาโก และได้เกิดรูปแบบใหม่ของเพลงบลูส์ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า "ชิคาโกบลูส์" (Chicago Blues) ซึ่งถือเป็นรูปแบบมาตรฐานให้แก่นักดนตรีบลูส์ในสมัยต่อมา
การบรรเลงเพลงบลูส์แต่เดิม ไม่มีระเบียบบังคับหรือกฎเกณฑ์อะไร จะเป็นการร้องคนเดียวกับอะคูสติกกีตาร์เป็นหลัก ต่อมาในตอนหลังจึงมีระเบียบในการประพันธ์เพลงบลูส์ขึ้น มีการพัฒนารูปแบบการบรรเลงให้มีลีลาที่เป็นลักษณะเฉพาะ มีตัวโน้ตว่าเมื่อใช้ระดับใด เสียงใด หรือความยาวขนาดใดจึงจะให้อารมณ์บลูส์ มีการร้องโดยมีวงแบ็กอัพคอยวางจังหวะและท่วงทำนองให้ เครื่องดนตรีที่ใช้ก็มีเพียงเปียโนกีตาร์ เบส และกลอง อาจมีฮาร์โมนิกาหรือฮอร์นเข้ามามีบทบาทสำหรับขัดจังหวะในบางช่วง ต่อมาได้มีการนำเอาดนตรีจากทางฝั่งตะวันตกมาสร้างบุคลิกใหม่ให้แก่บลูส์โดยบี.บี.คิง (B.B. King) เรียกว่า โมเดิร์นบลูส์ (Modern BIues) ที่ได้รับความนิยมต่อมาจนถึงช่วงยุคสมัยใหม่นี้
ลักษณะเฉพาะของเพลงบลูส์ถูกวางด้วยด้วยรากฐานจากความเจ็บปวดแร้นแค้น ทุกข์ทรมาน ของชีวิต เนื้อเพลง และสำเนียงของบลูส์จึงแฝงความเจ็บปวดคล้ายการสะอึกสะอื้นเวลาร้องให้ จึงใช้แสดงอารมณ์เศร้าได้ดี นอกจากนั้น เรื่องของจังหวะ (rhythm) ของบลูส์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และเป็นแบบแผนนำไปสู่ดนตรีรูปแบบอื่นมากมาย เช่น ฟังค์,โซลฟังค์,ริทึ่ม แอนด์ บลูส์, ร็อก แอนด์ โรล เป็นต้น  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

รายการบล็อกของฉัน