วันเสาร์, กันยายน 25, 2553

ประวัิติเพลงบลูส์ 2

Blues
เพลงบลูส์ (Blues) เป็นเพลงของคนผิวดำ ซึ่งในสมัยก่อนพวกทาสในอเมริกาใช้ร้องเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและความทุกข์ยากในชีวิต สมัยนั้นในอเมริกาทุกคนต่างถือว่า ทาสเป็นเพียงสินค้าอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่มีสิทธิใดๆ ทั้งสิ้นนอกจากทำงานหนักเพียงอย่างเดียว แม้แต่วัฒนธรรมของพวกทาสก็ยังถูกกำจัดให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง เว้นแต่บางสิ่งบางอย่างเท่านั้นที่ยังคงเหลือเอาไว้เพื่อประโยชน์ต่อนายทาส พวกทาสต้องนับถือศาสนาคริสต์ จะนับถือศาสนาของตัวเองไม่ได้ ความป่าเถื่อนของเรือบรรทุกทาส การประมูลทาสเยี่ยงสัตว์ป่า การใช้แรงงานทาสอย่างทารุณ ล้วนเป็นการทำลายจิตใจของพวกทาสชาวอาฟริกันอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ความคับแค้นและความลำบากอย่างแสนสาหัสนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเพลงบลูส์ขึ้น เสียงเพลงที่เปล่งออกมาสามารถบีบคั้นอารมณ์คนฟังได้ เพราะเนื้อหาของเพลงนั้นได้หยิบยกมาจากความเป็นอยู่และและชีวิตที่แสนลำเค็ญของพวกทาส สะท้อนถึงอารมณ์และถ่ายทอดเป็นบทเพลงได้เป็นอย่างดี


เพลงบลูส์มีต้นกำเนิดมาจากเพลงที่พวกทาสชอบร้องเวลาทำงานเป็นหมู่คณะเพื่อให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น และช่วยให้ผู้ที่ได้ฟังมีความรู้สึกแจ่มใสตามไปด้วย เช่น การร้องด้วยเสียงที่ดังลั่นที่มีทั้งเสียงทุ้มและต่ำอย่างไพเราะ หรือเสียงที่สูงจนแสบแก้วหู เมื่อคนอื่นร้องจบคนอื่นก็จะสอดรับขึ้นทันที ทีละคนสองคนและแล้วก็เพิ่มขึ้นจนเป็นเสียงลูกคู่ร้องรับกันไปในที่สุด การร้องเพลงแบบนี้เรียกว่าฮอลเลอร์‘ (Hollers – เสียงกู่ร้องที่ก้องกังวานอย่างโหยหวน) ซึ่งมักได้ยินเมื่อคนผิวดำทำงานเป็นหมู่คณะตามท้องไร่หรือที่อื่นๆ เป็นเพลงที่กลายเป็นแนวทางอย่างหนึ่งของเพลงบลูส์ เพลงฮอลเลอร์นี้ไม่สามารถที่จะอธิบายถึงลักษณะที่แน่นอนได้เพราะมีการต่อเติมให้แปลกแหวกแนวออกไปเรื่อยๆ ตามความคิดของนักร้องแต่ละคน แต่ลักษณะเด่นของเพลงฮอลเลอร์คือ ในเพลงจะมีระดับเสียงที่ลงต่ำแล้วกลับขึ้นสูงโดยเร็ว การขึ้นเสียงและผ่อนเสียงในระดับเช่นนี้เป็นเอกลักษณ์ของฮอลเลอร์ เพลงบลูส์นั้นได้รับเอาแบบฉบับของดนตรียุโรปเข้ามาผสมกับเพลงทำงาน และเสียงกู่ร้องในไร่ (Cornfield Holler) เป็นแบบฉบับดั้งเดิมที่ตกทอดมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายายของชาวอาฟริกันหลายชั่วอายุคนจนกลายเป็นแบบฉบับของเพลงบลูส์ขึ้นมา เพลงบลูส์มีรูปร่างที่แน่นอนขึ้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 คือเนื้อร้องบทละ 3 บรรทัด ร้อง 12 จังหวะตามแบบของนักร้องบัลลาด แม้ว่าเพลงบลูส์จะมีรูปแบบที่แน่นอนตายตัวอย่างไรก็ตาม แต่ยังมีลีลาการร้องแบบฮอลเลอร์ (การร้องแบบด้นสด) เข้าไปแทรกอยู่ด้วย ทำให้บลูส์มีลักษณะพิเศษของตัวเอง

เพลงบลูส์เป็นเพลงที่ร้องไปกับการเล่นดนตรี แสดงออกถึงอารมณ์ นักร้องเพลงบลูส์นั้นไม่ต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในอารมณ์ของคนอื่น แต่จะร้องออกมาเป็นอารมณ์ของตัวเอง เมื่อความโศกเศร้าต่างๆ ได้ผ่านไปแล้วก็สามารถที่จะร้องเพื่อความเพลิดเพลินของตัวเองหรือเพื่อนพ้องได้ ลีลาและน้ำเสียงของบลูส์นั้นเต็มไปด้วยความล้ำลึกที่มาจากความปวดร้าวภายในที่แอบซ่อนอยู่ บอกกล่าวต่อผู้ฟังอย่างเศร้าสร้อยและโหยหวน ลักษณะเด่นอีกอย่างของดนตรีบลูส์คือ เป็นเพลงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวนักร้องอย่างแท้จริง นักร้องเพลงบลูส์จะสามารถร้องเพลงที่เกี่ยวกับตัวเองเสมอ

ชาร์ลี แพทตัน (Charley Patton) ชาวมิสซิสซิปปี้เป็นนักดนตรีที่สำคัญของประวัติศาสตร์เพลงบลูส์คนหนึ่ง การร้องที่เต็มไปด้วยเสียงกระแทกกระทั้นอย่างรุนแรงและคำรามอย่างแข็งกร้าว นักดนตรีบลูส์หลายคนเป็นลูกศิษย์หรือได้รับอิทธิพลจากเขา

ไบลนด์ เลมอน เจ็ฟเฟอร์สัน (Blind Lemon Jefferson) เขาเป็นชาวเท็กซัสเป็นนักร้องตาบอดที่น่าสงสารมาก เสียงของเขาแหบสูง เหมือนจะเชือดเฉือนกรีดลงไปในขั้วหัวใจของผู้ที่ได้ฟัง เขาเล่นกีตาร์ไปตามจังหวะและโน้ตเพื่อเน้นคำร้องไปด้วยกับการดีดกีตาร์อย่างแรงๆ และรวดเร็ว นักร้องเพลงบลูส์ที่ยิ่งใหญ่อีกคนคือ ไรเลย์ คิง (Riley king) เขาเกิดที่มลรัฐมิสซิสซิปปี้ เป็นผู้ที่ชอบสร้างสรรค์เพลงบลูส์รูปแบบใหม่อยู่เสมอ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บลูส์ บอย คิง‘ (Blues Boy King) แล้วในไม่ช้าคำว่าบลูส์บอยก็หดหายไป คงเหลือแต่ตัวย่อว่า บี.บี. จึงมีคนเรียกชื่อเขาแต่เพียงชื่อ บี.บี.คิง (B.B. KING) เท่านั้น

นักดนตรีบลูส์ที่สำคัญคนอื่นๆ เช่น จอห์น ลี ฮูเกอร์ (John Lee Hooker) ชาวเท็กซัส ดนตรีของเขามีเอกลักษณ์ทั้งการร้องและการเล่นกีตาร์ เพลงบลูส์ของเขาเต็มไปด้วยความดื่มด่ำลึกซึ้ง
โบ ดิดด์เลย์ (Bo Diddley) ชาวเมืองชิคาโก วงดนตรีของเขาจะเล่นดนตรีที่หนุ่มสาวชาวผิวดำกำลังคลั่งไคล้กันอย่างหนัก เป็นเพลงที่สนุกเร้าใจ

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

รายการบล็อกของฉัน