หน้าเว็บ

วันพุธ, กันยายน 29, 2553

John Lennon หนึ่งในสัญลักษณ์ ของการเรียกร้องสันติภาพสำหรับมวลมนุษยชาติ


John Lennon  
"คุณจะอยู่อย่างเสแสร้งหลอกลวงไปจนวันตายก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณไม่อาจปกปิดบดบัง คือความพิกลพิการภายในจิตใจของคุณ" 



บทเพลงแรกของ จอห์น เลนนอน (John Lennon) ที่ทำให้วงดนตรีขนาดเล็กเท่าตัวเต่าทองของเขาโด่งดังข้ามทวีป จากเกาะอังกฤษไปสู่แผ่นดินอื่นเกือบทั่วโลก คือเพลง "Please Please Me" (ค.ศ. ๑๙๖๓) เป็นเพลงรัก เนื้อหาเวียนวนอยู่กับการวอนขอให้ "คุณเอาใจผม เหมือนกับที่ผมเอาใจคุณ" เขาเล่าไว้ว่าได้แรงบันดาลใจจากเพลงของนักร้องนักดนตรีชาวอเมริกันผู้เป็นต้นแบบดนตรีร็อกอย่าง รอย ออร์บิสัน (Roy Orbison) กับ บิง ครอสบ (Bing Crosby) เป็นการได้แรงบันดาลใจในการประพันธ์เนื้อร้องและทำนอง สะท้อนให้เห็นว่าเลนนอนในวัยหนุ่ม (ขณะนั้นเขามีอายุเพียงยี่สิบต้นๆ) เป็นนักดนตรีที่สุงสิงอยู่กับ "ความสนใจของตัวเอง" ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหาตามประสาวัยรุ่นทั่วไป
บทเพลงดังระดับโลกบทสุดท้ายของ จอห์น เลนนอน ที่ทำให้ทั้งชื่อและผลงานของเขากลายเป็น
หนึ่งในสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสันติภาพสำหรับมวลมนุษยชาติ คือเพลง "Imagine" (ค.ศ. ๑๙๗๑) เนื้อหาโดยรวมของเพลงอมตะบทนี้คือการเรียกร้องให้ผู้ฟัง และมวลมนุษย์ชาติทุก ๆ คน "จินตนาการ" ถึงสังคมยูโธเปีย ที่ปราศจากการแบ่งแยกชนชาติ ปราศจากการแบ่งแยกทางศาสนา ปราศจากสงคราม ปราศจากนรกและสวรรค์ ให้มวลมนุษย์ทุกคนฝัน  จินตนาการ ถึงสันติภาพ
"ผมหวังว่าสักวันพวกคุณจะร่วมฝันไปกับเรา แล้วโลกก็จะอยู่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว"

จากหนุ่มน้อยผู้ขับกล่อมเพลงรัก เรียกร้องความสนใจจากสาวๆ กลายเป็นหนุ่ม "หัวรุนแรง" ผู้พยายามใช้ชื่อเสียง เงินทอง และศักยภาพทางดนตรีของตน คะยั้นคะยอขอสันติภาพจากเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ในระยะเวลาการทำงานไม่ถึง ๑๐ ปี ดูเหมือน จอห์น เลนนอน จะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เติบโตขึ้น มีสาระมากขึ้น และทำตัวเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น
เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาดูดีกว่าดารานักร้องทั่วไป แม้คนจำนวนหนึ่งจะไม่ปลาบปลื้มพฤติกรรมของเขา ระแวงว่าเขาสร้างภาพเพียงบนผิวเปลือก วิจารณ์ทัศนคติของเขาว่าตื้นเขินไร้เดียงสา แต่ก็ยากจะปฏิเสธสถานะความเป็น เสมือน "มหาตมะ คานธี" แห่งวงการเพลงของยุคนั้น อย่างน้อยเพลงอย่าง "Imagine" ที่จอห์น เลนนอน เขียนขึ้น ก็กระตุ้นให้วัยรุ่นมองด้านอื่นของชีวิตและสังคมมากกว่าเพลงอย่าง "Please Please Me" ไม่ว่าจะเป็นการมองที่ลึกซึ้งหรือตื้นเขินขนาดไหนก็ตาม
ชีวิตในสายตาสาธารณะของ จอห์น เลนนอน จึงดูเหมือนจะมีสองยุคสมัยที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ยุคแรกคือนักร้องขวัญใจวัยรุ่น เป็นหัวหอกของ เดอะบีเทิลส (The Beatles) วงร็อกที่โด่งดัง และประสบความสำเร็จมากที่สุดวงหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรีสมัยใหม่ (อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด หากวัดจากความเป็นตำนานและความสำเร็จเชิงพาณิชย์ที่ยังดำเนินต่อไปไม่จบสิ้น) สถานะของเขาในตอนนั้นไม่ต่างจากความนิยมที่สาวน้อยและสาวใหญ่มีให้ต่อสมาชิกวงประเภท "บอยแบนด์" ในปัจจุบัน นั่นคือห่างไกลจากการกระตุ้นต่อม "สำนึกต่อสังคม" ทั้งในภาพลักษณ์และผลงาน ตัวตนของเขาเป็นเพียงเครื่องหมายการค้า และเป็น "ต้นแบบ" ทางแฟชั่น บทเพลงของเขา (หรือของ "พวกเขา" ในนาม เดอะบีเทิลส์) อาจมีความน่าตื่นเต้นประทับใจในแง่ความแปลกใหม่ของเสียงดนตรี แต่ในด้านสาระและความหมาย มีเพียงไม่กี่เพลงเท่านั้นที่ขยับเคลื่อนห่างออกไปจากคำว่า "รัก"
ทว่า จอห์น เลนนอน ในยุคหลัง กลับกลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ การต่อต้านสงคราม การเรียกร้องสันติภาพ และเป็น "วีรบุรุษของชนชั้นกรรมกร" ดังที่เขาขับร้องด้วยน้ำเสียงขื่นขมอมประชดประชันในเพลง "Working Class Hero" จากผลงานอัลบัมเดี่ยว (แต่ทำร่วมกับโยโกะ โอโน่ ภรรยาคนที่สองของเขา) ชุดแรกที่ชื่อ John Lennon/Plastic Ono Band ในปี ๑๙๗๐ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างชัดเจนของ "จอห์น เลนนอน คนใหม่" ผู้ไม่อาจหวนกลับไปร่ำร้องอ้อนวอนให้สาวๆ "เอาใจ" เขา เหมือนที่เคยทำอีกแล้ว
ระหว่าง จอห์น เลนนอน ยุคแรก กับ จอห์น เลนนอน ยุคหลัง ชายหนุ่มคนใดสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของนักร้องนักดนตรีผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลกผู้นี้ เขาเป็นมนุษย์ผู้หมกมุ่นกับความรักและความต้องการของตัวเอง หรือเป็นยอดมนุษย์ผู้ห่วงใยความเป็นไปในสังคมมากกว่าความสุขสบายส่วนตัวกันแน่
คำตอบอาจไม่ใช่ทั้งสองคน
ในความต่างของเพลงอย่าง "Please Please Me" และเพลง "Imagine" ยังมีความเหมือนที่แฟนเพลงทั้งสองยุคของเขาอาจไม่สามารถสังเกตเห็นในขณะนั้น แม้เพลงแรกเป็นเพลงที่พูดกับผู้หญิงเพียงหนึ่งคน และเพลงที่สองพูดกับมนุษยชาติ แต่สำหรับผู้พูดที่ชื่อ จอห์น เลนนอน เขาพูดด้วยความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการที่ไม่ห่างไกลจากกันเท่าไรนัก
เป็นคำพูดของผู้ที่คิดว่าตัวเองขาดไร้ความรัก และทุกข์ตรมอยู่กับผลลัพธ์ของ "ความจริง"
เพลง "Imagine" อาจได้รับคำสรรเสริญเยินยอว่ามีเนื้อหางดงาม แต่เนื้อหาของมันย่อมต้อง
มีจุดกำเนิดจากความหม่นเศร้าและผิดหวัง มีเพียงชีวิตในโลกแห่งการแบ่งแยก สงคราม และ
ความอยุติธรรมเท่านั้นที่ผู้คนจำเป็นต้องร้องเพลงอย่าง "Imagine" เพื่อวอนขอความสงบสุข เพื่อปลอบประโลมตัวเองว่า "ความฝัน" อันสวยงามในอุดมคติ "อาจจะ" เป็นจริงได้สักวัน
มนุษย์คงไม่จำเป็นต้องมี "จินตนาการ" หากโลกและชีวิตดำเนินไปตามความคาดหวังโดย
เพียบพร้อมสมบูรณ์
นอกเหนือจากความเป็นนักร้องเพลงรักและนักร้องเพลงเรียกร้องสันติภาพ ความโดดเด่นที่แท้จริงในผลงานดนตรีของ จอห์น เลนนอน อาจเป็นการประพันธ์บทเพลงประเภท "ตีแผ่ความอ่อนแอของตัวเอง" เขาเป็นนักร้องเพลงร็อกสมัยใหม่คนแรกๆ ที่เขียนเพลงจากประสบการณ์ส่วนตัวชนิดแทบหมดเปลือก ส่วนใหญ่เป็นการเปิดเผยด้านเศร้าหม่น มืด สับสน โดยไม่หวาดหวั่นว่าแฟนเพลงจะเหยียดหยามความเป็น "ปุถุชน" ของคนระดับตำนานอย่างเขาแม้แต่น้อย
ตรงกันข้ามกับการสร้างภาพ เพลงของ จอห์น เลนนอน ในยุค "หลังเดอะบีเทิลส์" เกือบทั้งหมดเป็นเพลงที่มีเนื้อหาแบบ "ไม่ห่วงภาพ" ถึงขั้นปลดเปลือยตัวตนบางด้านของเขาจนเกือบเห็นโครงกระดูก

บทเพลงแรกในอัลบัม John Lennon/Plastic Ono Band ชื่อเพลง "Mother" ไม่ใช่เพลงที่ จอห์น เลนนอน แต่งขึ้นเพื่อสรรเสริญเทิดทูนมารดาของตัวเองแต่อย่างไร
Mother, you had me
But I never had you
I wanted you
But you didn't want me
So, I got to tell you
Goodbye, goodbye
แม่ของ จอห์น เลนนอน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนขณะที่เลนนอนอายุ ๑๗ ปี ส่วนพ่อของเขาทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่เลนนอนยังเป็นทารก เนื้อหาของเพลง "Mother" (ขับร้องด้วยน้ำเสียงโอดครวญ
ของคนเจ็บปวดสาหัส) จึงไม่ได้มุ่งหวังประจานความบกพร่องในหน้าที่ผู้ปกครองของคนทั้งสอง
หากแต่เป็นการเปิดโปงสภาวะ "ขาดความอบอุ่น" ของผู้ประพันธ์ หากตีความว่ามันเป็นบทเพลงของมนุษย์ผู้ปราศจากความรัก และผิดหวังกับสภาพแวดล้อมของตนเอง "Mother" ก็คล้ายคลึงกับ "Please Please Me" และ "Imagine" อย่างน่าประหลาดใจ ทั้งที่เพลงหนึ่งแต่งโดยหนุ่มหล่อขวัญใจวัยรุ่น เพลงหนึ่งแต่งโดยผู้นำขบวนประท้วงต่อต้านสงคราม และอีกเพลงหนึ่งแต่งโดยผู้ป่วยทางจิตที่ต้องการการบำบัดโดย ซิกมุนด์ ฟรอยด์
"Isolation" ("ความโดดเดี่ยวเดียวดาย") อีกบทเพลงจากอัลบัมเดียวกัน สารภาพว่า
People say we got it made
Don't they know
We're so afraid?
Isolation
We're afraid to be alone
Everybody got to have a home
Isolation
"ใครๆ ก็บอกว่าเราได้ดีไปแล้ว พวกเขาไม่รู้หรือว่าเราหวาดกลัวเหลือเกิน" จอห์น เลนนอน หมายถึงตัวเขา ภรรยา และพรรคพวกคนดังที่สังคมอิจฉาริษยาในความสำเร็จร่ำรวย แต่กระทั่งคนอย่าง
พวกเขาก็ไม่สามารถหลบหนีหลุดพ้นจากความรู้สึกหวาดกลัวการถูกทอดทิ้งซึ่งสร้างความทุกข์ลึกๆ ให้มนุษย์ส่วนใหญ่
จอห์น เลนนอน อาจหยิบยกคนอื่นมาอ้างอิงเชื่อมโยงไปกับความรู้สึกของตัวเองบ่อยครั้ง ทว่า ในความหมายที่แท้จริง เขาไม่ได้พูดถึงใครนอกจาก จอห์น เลนนอน
อัลบัม John Lennon/Plastic Ono Band คับคั่งไปด้วยบทเพลงเปิดโปงความทุกข์และเปลือยเปล่า
ความอ่อนแอ นอกจาก "Mother" และ "Isolation" ยังมี "God" ("The dream is over..." ความฝันสิ้นสุดลงแล้ว) และอีกหลายบทหลายตอนในแต่ละเพลงที่ จอห์น เลนนอน กู่ตะโกนบอกกับโลกที่รู้จักเขาดี ว่าเขาเป็นเพียงคนอมทุกข์ที่พยายามหาหนทางดำรงชีวิตอยู่อย่างสันติกับความทรงจำขมๆ และความสับสนขื่นๆ ไปให้ได้เท่านั้น
กระทั่งในเพลงเบาๆ ที่อ่อนโยนอย่าง "Love" เขายังสื่อว่า "Love is wanting to be loved," ความรักคือการ "ต้องการได้ความรัก" จากคนอื่น
"ความต้องการ" นั่นคือแก่นสำคัญในตัวตน และผลงานของ จอห์น เลนนอน "ความต้องการ" ที่ไม่เคยได้รับการตอบสนองเพียงพอ
หลังจากอัลบัม John Lennon/Plastic Ono Band และก่อนที่เขาจะถูกฆาตกรรมเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๐ จอห์น เลนนอน สร้างงานดนตรีออกมาอีกไม่น้อย หลายเพลงได้รับสถานะ
ของความเป็น "อมตะ" ไม่แพ้ "Imagine" และหลายเพลงเช่นกันที่สะท้อนตัวตนของคน "ขาดความรัก" อย่างตรงไปตรงมา ทำให้เขาเป็นหนึ่งในต้นแบบของนักร้องประเภท "ระบายเรื่องส่วนตัว" ที่กลายเป็นวัฒนธรรมเล็กๆ สืบเนื่องต่อมาในวงการดนตรีร่วมสมัย หากไม่มีเพลงเปลือยอารมณ์ของ จอห์น เลนนอน วงการเพลงอาจไม่เคยมี เคิร์ท โคเบน อาจไม่เคยมีคนอย่างเอมิเน็ม หรือใครก็ตามที่จงใจสร้างงานศิลปะจากปัญหาส่วนตัวโดยไม่เหนียมอายหวาดหวั่นต่อสายตาวิพากษ์ของสังคม

You can live a lie until you die
One thing you can't hide
Is when you're crippled inside

"คุณจะอยู่อย่างเสแสร้งหลอกลวงไปจนวันตายก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณไม่อาจปกปิดบดบัง คือความพิกลพิการภายในจิตใจของคุณ" จอห์น เลนนอน ครวญในบทเพลง "Crippled Inside" จากอัลบัม Imagine นั่นดูเหมือนจะเป็น "คติ" ประจำตัวที่เขาเชื่อมั่นและยึดปฏิบัตินับตั้งแต่หลุดพ้นจาก
ภาพของร็อกเกอร์หนุ่มหนึ่งใน "สี่เต่าทอง" วงดนตรีที่โด่งดังที่สุดในโลก
หรือบางที มันอาจเป็นคติที่เขาได้มาจากประสบการณ์เนิ่นนานก่อนหน้านั้น
ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขายังเป็นเด็กชายไร้ชื่อเสียง
ผู้ยื่นแขนร้องขอการโอบกอด
แต่ไม่เคยได้รับการตอบสนองจากใครเลยสักคนเดียว

วันอังคาร, กันยายน 28, 2553

บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) การมอดไหม้ที่ไพเราะของผลไม้ประหลาด



บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday)  การมอดไหม้ที่ไพเราะของผลไม้ประหลาด
บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday) (7 เมษายน ค.ศ. 1915 - 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1959) นักร้องผิวสีชาวอเมริกัน เจ้าของฉายา เลดี้เดย์ (Lady Day) เป็นนักร้องเพลงแจ๊ซ สวิงและบลูส์ที่มีน้ำเสียงและวิธีการร้องที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ด้วยน้ำเสียงแหบหยาบ หม่นเศร้า ประกอบกับเพลงส่วนใหญ่ที่เธอเลือกร้อง มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับความผิดหวัง เศร้าหมอง ขมขื่น สอดคล้องกับชีวิตจริงของเธอเอง
เริ่มต้น
บิลลี ฮอลิเดย์ มีชื่อจริงว่า เอเลนอรา เฟแกน เป็นลูกนอกสมรสของนักดนตรีแบนโจชื่อ คลาเรนซ์ ฮอลิเดย์ (Clarence Holiday) วัย 15 ปี กับ ซาดี เฟแกน (Sadie Fagan) วัย 13 ปี
เธอเกิดเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1915 ที่บัลติมอร์ ฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพนซิลเวเนีย พ่อของเธอทิ้งให้สองแม่ลูกใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง ส่วนตัวไปทำงานเป็นนักดนตรีอยู่ที่นิวยอร์ก เมื่อเธอเริ่มโตขึ้น แม่ก็ทิ้งให้อยู่กับญาติ ส่วนตัวก็ไปหางานทำต่างเมือง เอเลนอราถูกข่มขืน ในวัยเพียง 11 ปี โดยเพื่อนบ้าน และถูกส่งเข้าโรงเรียนคาธอลิกในบัลติมอร์ เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ (หนังสือบางเล่ม กล่าวว่า เป็นโรงเรียนดัดสันดาน)
เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ฮอลิเดย์ติดตามแม่ของเธอมาอยู่ในนิวยอร์ค  ชีวิตในสังคมเมืองใหญ่ซึ่งไม่มีทางเลือกมากนัก ชักนำเธอไปสู่การทำงานในสถานบริการทางเพศ และครั้งหนึ่งเคยทำให้เธอถูกจับเข้าห้องขังในข้อหาค้าประเวณีมาแล้ว
     ฮอลิเดย์กลับมาหางานทำอีกครั้งในฐานะนักเต้น และต่อมาในราวปี ค.ศ. 1930 เธอค้นพบว่าการร้องเพลงสามารถหารายได้มาจุนเจือตนเองอีกทางหนึ่ง  โดยไม่รอช้า ฮอลิเดย์ตัดสินใจเอาดีกับการร้องเพลงทันทีทั้งๆ ที่เธอไม่ได้เรียนร้องเพลงโดยตรงมาแต่อย่างใด
     นอกจากการบันทึกเสียงกับวงเบนนี กู้ดแมนแล้ว  เลดี เดย์ ยังประสบความสำเร็จอย่างมากจากการร่วมงานกับนักเปียโน เท็ดดี วิลสัน ในปี ค.ศ. 1936 โดยมีเพลง Why Was I Born,  MeanTo Me, Easy Living และ The Man I Love  เป็นเพลงฮิตยุคแรกๆ 
     นอกจากนี้เธอยังมีนักแซ็กโซโฟนดาวเด่นอย่าง เลสเตอร์ ยัง เป็นผู้สร้างปฏิสัมพันธ์กับลีลาการร้องของเธอทั้งในการแสดงสดและการบันทึกเสียง
     ฮอลิเดย์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจในการร้องเพลงมาจากราชินีเพลงบลูส์ เบสซี สมิธ  นอกจากการถ่ายทอดเพลงยอดนิยมให้มีมิติแตกต่างจากนักร้องทั่วไปด้วยการตีความตามแบบฉบับของเธอแล้ว จุดเด่นในแง่ของเทคนิคการร้องเพลงของฮอลิเดย์ยังมาจากการฟังเสียงของเครื่องดนตรีต่างๆ  ภายในวงและปรับแต่งระดับเสียงร้องของตัวเองให้ลื่นไหลไปตามอารมณ์เพลงนั้นๆ
     หรือในอีกทางหนึ่งก็คือการจูนเสียงร้องให้เข้ากับเสียงคอร์ดใหม่ๆ ของดนตรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขนบธรรมเนียมในดนตรีแจ๊ส และได้กลายเป็นคุณสมบัติของนักร้องเพลงแจ๊สที่ดีพึงจะมีในเวลาต่อมา

ซาดี และเอเลนอรา ย้ายไปนิวยอร์ก เมื่อ ค.ศ. 1928 ณ ที่นั้น เธอเริ่มใช้ชีวิตอย่างเหลวแหลกอยู่ตามซ่องโสเภณี ถูกจับด้วยข้อหาคนจรจัด ติดคุกอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อออกจากคุก จึงเริ่มอาชีพนักร้อง ตระเวนร้องตามบาร์ ใช้ชื่อว่า บิลลี ฮอลิเดย์ โดย บิลลี มาจากชื่อนักแสดงที่เธอชื่นชม ชื่อ บิลลี โดฟ และ ฮอลิเดย์ มาจากนามสกุลของพ่อ
เธอร้องเพลงโดยได้แบบอย่างและลีลาการร้องมาจาก เบสซี สมิธ และการเปล่งเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของ หลุยส์ อาร์มสตรอง นักร้องที่เธอได้ฟังจากแผ่นเสียง ขณะใช้ชีวิตอยู่ในซ่องโสเภณี และชื่นชมมาก
การร้องเพลงของบิลลี ฮอลิเดย์ สะดุดตาโปรดิวเซอร์ชื่อ จอห์น แฮมมอนด์ ซึ่งเป็นผู้ชักนำให้เธอเข้าสู่วงการ เธอเริ่มอัดแผ่นเสียงเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1933 กับวงดนตรีของเบนนี กูดแมน เธอมีชื่อเสียงมากขึ้นและได้ร่วมงานกับเคาท์ เบซี เมื่อ ค.ศ. 1937
ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุด ของเธอ เป็นผลงานชื่อเพลง Strange Fruit จากบทกวีของ เอเบล มีโรโปล (Abel Meeropol) ซึ่งสะท้อนเหตุการณ์การเหยียดผิว และความรุนแรงในสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น มีชาวผิวขาวรุมทำร้ายชาวผิวดำ และนำศพไปแขวนกับต้นไม้
Southern trees bear strange fruit,
Blood on the leaves and blood at the root,
Black bodies swinging in the southern breeze,
Strange fruit hanging from the poplar trees.

Pastoral scene of the gallant south,
The bulging eyes and the twisted mouth,
Scent of magnolias, sweet and fresh,
Then the sudden smell of burning flesh.

Here is a fruit for the crows to pluck,
For the rain to gather, for the wind to suck,
For the sun to rot, for the tree to drop,
Here is a strange and bitter crop
มีโรโปล ใช้นามแฝงว่า ลิวอิส อัลเลน (Lewis Allen) เปรียบเทียบคนผิวดำที่ถูกแขวนคอกับกิ่งไม้ ว่าเป็นผลไม้หน้าตาประหลาด ที่เลือดไหลเปรอะไปทั่วกิ่งใบ จนถึงรากไม้
เธอชื่นชอบเพลงนี้ และนำไปเสนอต่อต้นสังกัด คือ โคลัมเบีย ว่าจะบันทึกเสียงเพลงนี้ แต่ต้นสังกัดปฏิเสธ เนื่องจากความรุนแรงของเนื้อหา เธอจึงหันไปบันทึกเสียงกับค่าย คอมมอดอร์ เมื่อ ค.ศ. 1939 และบันทึกอีกครั้งเมื่อ ค.ศ. 1944
เพลง Strange Fruit นับเป็นเพลงที่อื้อฉาวที่สุดของเธอ แฟนเพลงจำนวนมากไม่พอใจที่เธอนำเพลงนี้มาร้อง ในระยะแรกเพลงถึงกับถูกห้ามออกอากาศทางสถานีวิทยุ แต่ที่สุดแล้ว เพลงนี้ก็ผลักดันได้เธอก้าวสู่ความเป็นนักร้องชั้นนำ และเป็นเพลงที่มีชื่อเสียงที่สุดของเธอ
บั้นปลาย
ช่วงทศวรรษ 1940 บิลลี ฮอลิเดย์ มีชีวิตที่ผกผัน เธอติดเหล้าและยาเสพติด มีชีวิตแต่งงานและความสัมพันธ์ที่ล้มเหลว ถูกจับด้วยข้อหายาเสพติด และต้องเข้าไปอยู่ในสถานกักกันนานถึงแปดเดือน ในปี ค.ศ. 1947
ช่วงทศวรรษ 1950 เธอยังคงเสพยา และติดเหล้าอย่างหนัก เธอแต่งงานใหม่กับมาเฟียชื่อ หลุยส์ แมคเคย์ แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์กับชายมากมาย เสียงเธอเริ่มแหบหยาบ แต่ก็ยังผลิตผลงานออกมามากมาย รวมทั้งจัดการแสดงสดในยุโรปในปี 1954 และ 1958-59
เธอป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคตับ ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลเมื่อเดือนพฤษภาคม 1959 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 อายุ 44 ปี ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว
เรื่องราวชีวิตของบิลลี ฮอลิเดย์ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1972 ชื่อ Lady Sings The Blues รับบทโดย ไดอาน่า รอสส์

Nina Simone Diva ตอนที่ 3 ต่อ



นีนา ซิโมน เป็นชื่อที่ ยูนิส แคทลีน เวย์มอน (Eunice Kathleen Waymon) ตั้งให้ตัวเองสมัยที่เธอทำงานเป็นนักร้องในบาร์ เพื่อปกปิดไม่ให้แม่ผู้เคร่งศาสนาของเธอล่วงรู้ถึงงานที่เธอทำ ความฝันของเด็กหญิงยูนิสคือการเป็นนักเปียโนคลาสสิก (ซึ่ง นีนา ซิโมน ยังคงยืนยันจนถึงบั้นปลายชีวิตว่าเธอเป็นนักเปียโนคลาสสิก และเรียกดนตรีที่เธอเล่นโดยรวมๆ ว่า ดนตรีคลาสสิกของคนผิวดำแทนชื่อแนวดนตรีอย่างแจ๊ซหรือโซล ด้วยเหตุผลที่ว่า มัน [แจ๊ซ] เป็นแค่คำที่ [คนผิวขาว] ใช้ระบุเรียกคนผิวดำ”)

ความสามารถในการเล่นเปียโนของเธอโดดเด่นตั้งแต่ที่เธอได้แสดงคอนเสิร์ตบนเวทีครั้งแรกในโบสถ์ขณะมีอายุเพียง ๑๐ ขวบ แม้แต่ความมุ่งมั่นในการเรียกร้องความเท่าเทียมให้แก่คนผิวดำของเธอก็ปรากฏชัดขึ้นพร้อมๆ กัน ในคอนเสิร์ตครั้งนั้น เมื่อผู้ปกครองของเธอถูกไล่จากที่นั่งแถวหน้าให้ถอยไปอยู่ข้างหลังเพื่อเปิดพื้นที่ให้คนผิวขาวได้นั่งแทน เด็กหญิงยูนิสปฏิเสธที่จะเล่นเปียโนจนกว่าพ่อกับแม่ของเธอจะได้กลับมานั่งที่เดิม

ชีวิตช่วงแรกของ นีนา ซิโมน ไม่ลำบากลำบนเท่านักร้องหรือนักดนตรีผิวดำชื่อดังจำนวนมาก เธอได้รับการศึกษาที่ดีแม้ว่าพ่อแม่ของเธอไม่ได้ร่ำรวย และความสามารถทางดนตรีของเธอก็ทำให้เจ้านายของแม่เอ็นดูและสนับสนุนค่าเรียนเปียโนอย่างต่อเนื่อง เมื่ออายุได้ประมาณ ๑๗ ปี นีนา ซิโมน มีโอกาสเข้าศึกษาเปียโนแนวคลาสสิกที่โรงเรียนดนตรีจูลลิอาร์ด (The Juilliard School of Music) โรงเรียนชื่อดังของนครนิวยอร์ก เป็นพื้นฐานที่ทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในนักร้องหญิงผิวสีกลุ่มนักร้องเพลงแจ๊ซระดับตำนานของอเมริกาไม่กี่คน ที่มีความรู้และมีทักษะทางดนตรีตามระบบการศึกษาอย่างแท้จริง

ในเมื่อความฝันของเธอคือการได้เป็นนักเปียโนคลาสสิก เมื่อเรียนจบจากจูลลิอาร์ด นีนา ซิโมน จึงพยายามสมัครเข้าเรียนเปียโนขั้นสูงที่สถาบันดนตรีเคอร์ติส (The Curtis Institute of Music) และเมื่อถูกปฏิเสธ เธอคิดว่าสาเหตุไม่ใช่ปัจจัยใดอื่นนอกจากสีผิวของเธอ ความผิดหวังในครั้งนั้น ประกอบกับสถานการณ์สงครามสีผิวในอเมริกาที่ยุ่งเหยิงขึ้นเรื่อยๆ อาจมีส่วนผลักดันให้ นีนา ซิโมน ให้ความสำคัญกับการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพอย่างขึงขังจริงจัง นอกจากนั้นเธอยังได้แรงบันดาลใจจากบรรดาเพื่อนปัญญาชนคนผิวสี เช่นสองนักเขียนใหญ่ แลงส์ตัน ฮิวส์ และ เจมส์ บอลด์วิน ให้ รู้สึกกับปัญหาของคนผิวดำอย่างลึกซึ้งกว่าเดิม
ถึงแม้ปัญหาการเหยียดสีผิวในอเมริกาจะคลี่คลายลงในที่สุด แต่ นีนา ซิโมน ดูเหมือนจะไม่เคยรู้สึกว่าพฤติกรรมของคนอเมริกันเปลี่ยนแปลงไปมากนัก และแม้เธอจะแต่งเพลง “Mississippi Goddam” ขึ้นตั้งแต่ในเวลาตอนต้นของการเป็นนางพญา นีนา ซิโมนที่ค่อนข้างยาวนาน (เธอเสียชีวิตในปี ๒๐๐๓ เมื่อมีอายุ ๗๐ ปี) แต่เนื้อหาของมันดูเหมือนจะเป็นบทสาบานที่ นีนา ซิโมน ให้ไว้แก่ตัวเองและกับสังคมของมนุษย์ที่เธอเรียกว่า ยังไม่พัฒนาสังคมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง การหลอกลวง และความโง่เขลา รายละเอียดในเพลงนั้นจึงยังเป็นจริงเสมอในความคิดของเธอ และเมื่อไรที่มีคนถามถึงอเมริกา เธอเป็นต้องด่าทอประเทศบ้านเกิดของตัวเองด้วยความอัดอั้นเคียดแค้นเช่นเคยเสมอ

Oh but this whole country is full of lies
You’re all gonna die and die like flies
I don’t trust you any more
You keep on saying “Go slow!”

ความเบื่อหน่ายอึดอัดต่อสังคมอเมริกัน ความเกลียดชังอุตสาหกรรมบันเทิง และความต้องการใช้ชีวิตอิสระอย่างเต็มที่ (และอาจรวมถึงเหตุผลส่วนตัวบางอย่าง) ทำให้ นีนา ซิโมน ย้ายถิ่นฐานออกจากอเมริกาอย่างถาวรในปี ๑๙๗๐ และหลังจากได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ หลายแห่ง (เมื่อไปถึงแอฟริกา เธอบอกว่าเธอได้ กลิ่นของความเป็นบ้าน ทำให้เธอมีความสุขกายสบายใจถึงขั้นต้องถอดรองเท้าเดิน และเต้นระบำโดยไม่สวมเสื้อผ้าแม้แต่ชิ้นเดียวอยู่หลายชั่วโมง) มีความสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน ในที่สุดเธอก็ไปหยุดอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนถึงวันสุดท้าย

แต่ก่อนจะเดินทางไกลจากบ้านโดยไม่อยากหวนกลับ (นอกจากจะกลับไปร้องเพลงและออกอัลบั้มเป็นครั้งคราว) นีนา ซิโมน ประพันธ์บทเพลงสำคัญให้แก่พลเมืองผิวสีในอเมริกาอีก ๑ เพลง ด้วยจังหวะจะโคนและน้ำเสียงที่แตกต่างจาก “Mississippi Goddam” พอสมควร หาก “Mississippi Goddam” เป็นเพลงประท้วงล้วงขอความยุติธรรมจากหัวใจอำมหิตของปีศาจผิวขาว เพลงใหม่ของเธอที่ชื่อ “To Be Young, Gifted and Black” (แต่งด้วยแรงบันดาลใจจากบทละครที่ ลอร์เรน ฮานส์เบอร์รี เพื่อนของเธอเขียนค้างไว้ก่อนตาย โดยมี เวลดอน เออร์ไวน์ เป็นคนเขียนเนื้อร้อง) อาจเรียกได้ว่าเป็นเพลง ปลุกใจหรือ ปลอบขวัญอย่างนุ่มนวลให้สังคมคนผิวสีของเธอไว้ขับกล่อมกันเองในระหว่างที่เธอไม่อยู่

When you feel really low
Yeah, there’s a great truth you should know
When you’re young, gifted and black
Your soul’s intact

สำเนียงของ นีนา ซิโมน ในเพลง “To Be Young, Gifted and Black” คือตัวอย่างของเพลงที่ทำให้ผู้คนในวงการดนตรีขนานนามเธอว่าภิกษุณีใหญ่แห่งดนตรีโซล” (High Priestess of Soul) แต่ นีนา ซิโมน ไม่เคยชอบฉายาใดที่สังคมตั้งให้เธอ และยังคงรักษาบทบาทของความเป็นขบถ เป็น คนนอกของตัวเธอไว้อย่างเข้มแข็งโดยตลอด

ในช่วงท้ายของชีวิต นีนา ซิโมน ยังคงแสดงออกถึงความผิดหวังต่ออเมริกา ต่ออุตสาหกรรมดนตรี แม้กระทั่งต่อสังคมคนผิวดำที่เธอเคยเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้ ด้วยการขับครวญความรู้สึกจากเบื้องลึกออกมาเป็นบทเพลงระดับอมตะหลายต่อหลายเพลง

แม้ว่า “To Be Young, Gifted and Black” จะได้รับการเลือกให้เป็นเพลงชาติสำหรับคนอเมริกันผิวดำอย่างเป็นทางการ นีนา ซิโมน ยังคงคิดว่าการต่อสู้ในยุคหกศูนย์ของเธอและเพื่อนพ้อง (ที่เสียชีวิตไปหมดแล้ว) ล้วนไม่ประสบผลสำเร็จ และสังคมคนผิวดำในอเมริกาก็ไม่ได้เดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น อาจเรียกได้ว่าเธอไม่ได้ผิดหวังเฉพาะกับคนผิวขาวหรือคนผิวดำเท่านั้น ทว่าเธอผิดหวังกับมนุษยชาติโดยรวม และยินดีที่จะเก็บตัวอยู่ห่างๆ

อย่างไรก็ตาม นีนา ซิโมน เป็นนักร้องหญิงผู้มีชีวิตโลดโผนที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ และไม่ว่าเธอจะยินดีด้วยหรือไม่ ชื่อของเธอก็กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศบ้านเกิดที่เธอรังเกียจ นั่นคือสัญลักษณ์ของนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ สัญลักษณ์ของศิลปินผู้ทุ่มเทอารมณ์และวิญญาณให้แก่งานอย่างแท้จริง สัญลักษณ์ของปัจเจกชนผู้ไม่ประนีประนอมต่อสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อ และสัญลักษณ์ของหญิงผู้มีไหวพริบแพรวพราว มีความภาคภูมิใจในเพศและสีผิวของตัวเอง และมีความ ทัดเทียมกับมนุษย์ทุกคนบนผิวโลก โดยไม่ต้องให้ใครเรียกร้องหรือปกป้องสิทธิเสรีภาพให้ หากแต่มีความทัดเทียมและเป็นอิสระด้วยการตัดสินใจของเธอเอง

แม้จะมีข้อบกพร่องเช่นเดียวกับคนทั่วไป (เธอเป็นคนอารมณ์ร้าย และมีอาการทางจิตที่ถูกปกปิดต่อสาธารณชนในขณะยังมีชีวิต) แต่น้ำเสียงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความจริงใจและการถ่ายทอดบทเพลงด้วยความซื่อสัตย์ต่อตัวเองคือคุณสมบัติที่ทำให้อารมณ์ร้าวลึกในฐานะของพลเมืองชั้นต่ำผู้ถูกกดขี่กักกั้น ปรากฏขึ้นบนพื้นผิวของทุกเพลงที่เธอขับร้อง

ในปี ๑๙๗๑ ขณะที่ นีนา ซิโมน กำลังบันทึกเสียงเพลง “My Father” (แต่งโดย จูดี คอลลินส์) อยู่ๆ เธอก็หยุดร้องกะทันหัน หลังจากเพิ่งเปล่งน้ำเสียงเอกลักษณ์ของเธอออกไปว่า “My father always promised me that we would live in France. We’d go boating on the Seine, and I would learn to dance. We lived in Ohio then, he worked in the mines...,” ห้องอัดเงียบกริบไปชั่วอึดใจ ก่อนจะได้ยินนีนาพูดเบาๆ

ฉันร้องเพลงนี้ไม่ได้...มันไม่ใช่ตัวฉัน
พ่อของฉันสัญญาเสมอว่าพวกเราจะได้รับเสรีภาพ แต่เขาไม่เคยสัญญากับฉันว่าพวกเราจะได้ไปอยู่ที่ฝรั่งเศส
แล้วเธอก็ระเบิดหัวเราะดังกึกก้องนานหลายวินาทีให้แกานิสัยซื่อตรงแต่ดื้อดึงของตัวเอง ด้วยพลังเสียงไม่ด้อยไปกว่าเวลาที่เธอตะเบ็งร้องเพลงประกาศความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์